ประวัติและโครงสร้างองค์กร ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กระทั่งได้มีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 19 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480
  • ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481
  • ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2489
  • ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491
  • ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495
  • ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500
  • ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500
  • ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512
  • ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518
  • ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519
  • ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522
  • ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526
  • ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529
  • ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531
  • ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535
  • ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535
  • ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538
  • ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539

การเลือกตั้งทั้ง 19 ครั้ง ใช้ระยะเวลา 64 ปี ได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการตราขึ้นมาบังคับใช้ในแต่ละห้วงเวลาแต่ละสมัย โดยฉบับสุดท้ายคือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522

กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกฉบับ ล้วนบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงและระเบียบให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายส่งผลให้กระทรวงมหาดไทย เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาโดยตลอด

จนกระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ประสงค์ที่จะให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลกระบวนการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใส สุจริต ยุติธรรม จึงมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535 ลงวันที่ 8 มกราคม 2535 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสองส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้ นายเกษม สุวรรณกุล เป็นประธาน และนายโคทม อารียา เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ติดตามและสอดส่องดูแลกระบวนการของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ให้เป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม และถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง "คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" หรือที่รู้จักกันในชื่อ “องค์กรกลาง” ถือเป็นองค์กรอิสระที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อันนำไปสู่กระแสเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปทางการเมืองอย่างจริงจัง จนในที่สุดมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งมาตรา 211 ด้วยการเพิ่มหมวด 12 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ และให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่วันที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครบตามจำนวน (99 คน)

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 99 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละจังหวัด 76 คน และรัฐสภาคัดเลือกจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และการปกครองอีก 23 คน โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แล้วนำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7/2540 (สมัยสามัญครั้งที่สอง)

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2540 ก็ได้มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ลงพระปรมาภิไธยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็มีผลใช้บังคับในวันเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือฉบับปฏิรูปการเมือง โดยเนื้อหาสาระได้มีการปรับปรุงแก้ไขออกแบบโครงสร้างระบบการเมืองให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพิ่มกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐและนักการเมืองการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การบัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมและจัดการเลือกตั้งแทนที่กระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อส่งเสริมการเลือกตั้งอย่างยุติธรรมในประเทศไทย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 5 คน ซึ่งเลือกสรรโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเป็นเวลา 7 ปี (ยกเว้นชุดแรก ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน (ที่ให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่งของวาระที่กำหนดไว้ ตามมาตรา 322 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 )

ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง

กรรมการการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย) http://maps.google.com/maps?t=k&q=Thailand&ll=13.7... http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.ect.go.th/ http://www.ect.go.th http://click.senate.go.th/wp-content/uploads/2017/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/...